ปัญหาน้ำท่วม

การป้องกันปัญหาน้ำท่วม คือสภาพที่มีน้ำนองขึ้นมาบนผิวดินเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดความยากลำบากในการสัญจร การอยู่อาศัย หรือ ทำให้พื้นที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติเมื่อเกิดน้ำท่วมขังขื้นในพื้นที่ก็แสดงว่าน้ำฝนไม่สามารถระบายออกจากพื้นที่ได้ทันท่วงที เราสามารถป้องกันการเกิดปัญหานี้ได้โดยการออกแบบสภาพทางกายภาพให้เอื้ออำนวยต่อการระบายน้ำดีออกจากพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทางภูมิสถาปัตยกรรมจะประเด็นหลักอยู่ 2 ประการคือ การวางระบบระบายน้ำผิวดิน และการขุดบ่อพักน้ำ


อุทกภัย น้ำท่วม

  • เกิดจากฝนตกหนังต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
  • บางครั้งทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม อาจมีสาเหตุจากพายุ
  • หมุนเขตร้อนลมมรสุมมีกำลังแรง ร่องความกดอากาศ
  • ต่ำมีกำลังแรง อากาศแปรปรวน น้ำทะเลหนุน แผ่นดินไหว
  • เขื่อนพัง ทำให้เกิดอุทกภัยได้เสมอ

อุทกภัยแยกออกเป็น

  1. น้ำป่าหลาก เกิดจากฝนตกหนักบนภูเขา ต้นน้ำลำธารและไหลบ่าลงที่ราบอย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีต้นไม้ ช่วยดูดซับ ชะลอกระแสน้ำ ความเร็วของน้ำ ของท่อนซุง และต้นไม้ ซี่งพัดมาตามกระแสน้ำจะทำลายต้นไม้ อาคาร ถนน สะพาน และชีวิตมนุษย์และสัตว์ได้
  2. น้ำท่วมขัง น้ำเอ่อนอง เกิดจากน้ำล้นตลิง มีระดับสูงจากปกติท่วมแช่ขัง ทำให้การคมนาคมหยุดชะงัก เกิดโรคระบาดได้ ทำลายพืชผลเกษตรกร
  3. คลื่นซัดฝั่ง เกิดจากพายุลมแรงซัดฝั่ง ทำให้น้ำท่วมบริเวณชายฝั่งทะเล บางครั้งมีคลื่นสูงถึง 10 เมตร ซัดเข้าฝั่งทำลายทรัพย์สินและชีวิตได้

ลักษณะสภาพน้ำท่วมปัจจุบัน
จากสภาพน้ำท่วมที่เกิดขึ้นทุก ๆ ปีดังเช่นในปัจจุบัน พบว่าบริเวณพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมส่วนมากเป็นบริเวณริมแม่น้ำสายหลัก ๆ ที่เป็นแหล่งชุมชนธุรกิจ ซึ่งมีระยะห่างจากริมแม่น้ำประมาณ 500 เมตร และขยายวงกว้างมากขึ้น ๆ เข้าสู่พื้นที่ของเกษตรกร เนื่องจากถนน หรือทำนบหรือกำแพงป้องกันน้ำท่วมพังทลาย หรือความจำเป็นต้องปล่อยระบายน้ำเข้าพื้นที่ดังกล่าวเพราะไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ในแม่น้ำสายหลัก ๆ ได้ เนื่องจากถ้าไม่ปล่อยระบายออกก็จะทำให้น้ำไหลลงมาท่วมตัวเมืองของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ดังนั้นการเกิดน้ำท่วมจะเป็นลักษณะแบบฉับพลัน นั่นคือ เกิดสภาพน้ำท่วมอย่างรวดเร็วทั้งพื้นที่เศรษฐกิจทางธุรกิจและเศรษฐกิจทางการเกษตร โดยในปี 2549 ทางราชการได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นประมาณ 6,300 ล้านบาท และมีการจ่ายค่าชดเชยให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายในลักษณะต่าง ๆ อีกเป็นเงินหลายพันล้านบาทอีกด้วย ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่ได้สูญเสียไปโดยไม่เกิดประโยชน์มากกว่าหมื่นล้านบาท ประเด็นนี้เองถ้ารัฐบาลนำเงินส่วนนี้ไปใช้ในการพัฒนาและป้องกันน้ำท่วมเชิงบูรณการณ์ให้เกิดประโยชน์ก็จะเกิดคุณค่าอย่างมหาศาลและประชาชนจะไม่เกิดความเดือดร้อน

ที่มาและสาเหตุ
ก่อนอื่นต้องตั้งข้อสังเกตว่าทำไมประชาชนคนไทยสมัยก่อนจึงตั้งชุมชนอยู่บริเวณริมแม่น้ำลำคลอง สร้างบ้านยกพื้นสูงประมาณ 3 เมตร มีหน้าบ้านติดริมน้ำ ประชาชนมีอาชีพทำนาโดยเลือกพันธุ์ข้าวที่มีต้นข้าวยาว ๆ หลายเมตรและมีอายุการเก็บเกี่ยวที่ยาวนานประมาณ 6 – 7 เดือน (เริ่มทำนาเดือน 6 เก็บเกี่ยวเดือนอ้าย) และทุกบ้านมีเรือเก็บไว้ใช้งาน ตลอดจนมีเพลงพื้นบ้านหรือเพลงลูกทุ่งที่เกี่ยวข้องกับเรือและน้ำด้วย นั่นแสดงว่า ที่ผ่านมามีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นด้วยระยะเวลาที่ยาวนานหลายเดือนเป็นประจำทุก ๆ ปี โดยเฉพาะภาคกลาง และยังใช้เรือเป็นยานพาหนะซึ่งธรรมชาติได้สร้างแม่น้ำลำคลองไว้สำหรับการเดินทางแล้วโดยสมบูรณ์ แต่ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะทางด้านคมนาคมได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการคมนาคมทางน้ำโดยเรือ มาเป็นทางบกโดยรถยนต์ จึงจำเป็นต้องสร้างถนนให้อยู่ใกล้บริเวณชุมชนมากที่สุด ซึ่งส่วนมากจะเป็นบริเวณแนวหลังบ้านที่อยู่อาศัยของแต่ละชุมชน และได้มีการสร้างถนนทั้งถนนสายหลัก ถนนสายรอง และถนนภายในชุมชนเพิ่มขึ้นมากมาย เพื่อความสะดวกรวดเร็วสำหรับการเดินทางและเป็นการประหยัดพลังงาน ตลอดจนยังจำเป็นต้องสร้างทำนบและกำแพงกั้นเป็นแนวสองริมฝั่งแม่น้ำลำคลองเพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมชุมชนเมื่อถึงฤดูน้ำมาก นี่จึงเป็นเหตุให้ปริมาณน้ำที่เคยมีในฤดูน้ำมากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี เช่นในอดีต ไม่สามารถไหลไปอยู่ในพื้นที่ที่เคยอยู่ (บริเวณที่ลุ่ม) และ ยังยากต่อการไหลลงสู่ทะเลเนื่องจากพื้นที่สำหรับการระบายน้ำลดน้อยลง ดังนั้นปริมาณน้ำทั้งหมดจึงถูกกักเก็บไว้ในแม่น้ำสายหลักมากกว่าปกติตามที่เคยมีมาในอดีต และเกิดวิกฤตน้ำท่วมเป็นลักษณะที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นในการแก้ไขเบื้องต้นตามหลักการที่ควรจะเป็นต้องมีการควบคุมการจัดสรรน้ำให้ไปในพื้นที่ต่าง ๆ ตามเวลาที่เหมาะสมซึ่งเราได้จัดเตรียมและวางแผนเอาไว้

หลักการป้องกัน
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้มีทั้งคุณประโยชน์และโทษเสมอ และจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวิธีการนำมาใช้และวิธีการควบคุม ในกรณีของน้ำก็เช่นกัน ถ้าเรารู้จักการจัดสรรและควบคุมที่ดีก็จะเกิดประโยชน์เพียงแต่อย่างเดียว แต่ถ้าไม่มีการจัดสรรและควบคุมที่ดีก็จะเกิดโทษอย่างมหัน ซึ่งถ้าเราพิจารณาอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การจัดสรรน้ำฝนที่ได้จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่มีการควบคุมใด ๆ ทั้งสิ้น และต้องรอฤดูกาล บางฤดูกาลก็ไม่มีน้ำใช้ บางฤดูกาลน้ำก็ท่วม สำหรับปัจจุบันมีวิธีการจัดสรรและควบคุม โดยการกักเก็บเอาไว้ในเขื่อนและฝายพร้อมกับมีจัดสรรปล่อยลงมายังพื้นที่ทำกินของประชาชนให้เกิดประโยชน์มากที่สุดตามแต่ละอาชีพ และป้องกันน้ำท่วม ตลอดจนยังสามารถนำไปผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานอีกด้วย แต่ด้วยมีการสร้างถนนขึ้นมากมายโดยไม่มีการวางแผนให้สอดคล้องกับธรรมชาติของน้ำที่เคยมีในอดีต จึงทำให้มีน้ำมากในบริเวณพื้นที่ที่เคยมีอยู่น้อยและมีน้ำอยู่น้อยในบริเวณพื้นที่ที่เคยมีน้ำอยู่มาก ดังนั้นถ้าเราสามารถจัดสรรให้น้ำอยู่ในบริเวณที่เคยอยู่ ตลอดทุก ๆ ฤดูกาลก็จะเกิดประโยชน์มากกว่าและไม่เกิดความเสียหายกับบริเวณพื้นที่ที่ไม่ต้องการน้ำเช่นปัจจุบัน นั่นคือเป็นการป้องกันน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุก ๆ ชุมชน โดยการกักเก็บและจัดสรรให้บริเวณพื้นที่ขาดน้ำในช่วงฤดูแล้งของทุกภาค ๆ มีน้ำใช้ และฤดูน้ำมากก็มีน้ำใช้ที่ไม่ทำให้เกิดความเสียหายอีกทั้งยังก่อให้เกิดรายได้ตลอดทุก ๆ ฤดูกาล บริเวณที่น้ำท่วมในปัจจุบันก็จะไม่เกิดความเสียหายเป็นนับพันล้านบาทอีกด้วย

ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขและเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน

 
สำนักงานปฏิรูประบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกร ชุมชน และสังคม (สปกช.) ภายใต้คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนแห่งชาติ ร่วมกับ สมาคมชาวนาไทย, มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ชุมชนธรรมเกษตร และมูลนิธิเพื่อบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ได้จัดประชุมวาระพิเศษ “น้ำท่วม: ทุกข์ซ้ำเกษตรกรรมไทย – ผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและข้อเสนอเพื่อหลุดพ้นจากวงจรวิกฤต” เพื่อประมวลความทุกข์ที่เกษตรกรประสบอยู่ และรัฐบาลอาจมองข้ามไป ตลอดจนเสนอแนะทางออกในการแก้และเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยมีข้อเสนอดังต่อไปนี้
 
1.      ขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนเกณฑ์และมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกรโดยยึดหลักความเป็นธรรม ความครอบคลุม และความโปร่งใส แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการชดเชยความเสียหายแก่เกษตรกรในกรณีนาข้าวเพิ่มขึ้นซึ่งคิดเป็น 55 % ของต้นทุนเฉลี่ยการผลิตข้าวแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ และยังไม่ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกรอื่นๆ เช่น ปศุสัตว์ เป็นต้น รวมถึงยังไม่ครอบคลุมต้นทุนความเสียหายที่แม้จริงของเกษตรกรกลุ่มต่างๆด้วย ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าชดเชยความเสียหายที่เป็นต่อเกษตรกรยิ่งขึ้น โดยให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการกำหนดด้วย
 
2.      การปรับปรุงมาตรการในการรับมือกับภัยน้ำท่วม ทั้งด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการเฝ้าระวังและการเตือนภัย การแก้ปัญหาวิกฤติเฉพาะหน้าโดยการระดมความช่วยเหลือจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งจากรัฐ ควรทำอย่างเป็นระบบและประสานงานกับพื้นที่เพื่อมิให้มีผู้ตกหล่นจากการช่วยเหลือ และต้องเร่งกำหนดแนวทางการฟื้นฟูหลังน้ำลดที่เป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้จริง โดยให้สังคมมีส่วนร่วม
 
 
3.      กลไกการบริหารจัดการน้ำ ควรมีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นที่น่าสังเกตว่าภัยน้ำท่วมในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและกินบริเวณกว้างทั้งที่ปริมาณน้ำฝน และน้ำท่าไม่ได้มากกว่าปีที่มีน้ำมากมากนัก สะท้อนปัญหาความผิดพลาดในการบริหารจัดการน้ำอย่างชัดเจน ต้องมีการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการอย่างจริงจัง
 
4.      การป้องกันภัยระยะยาว ควรดำเนินการในหลายสิ่งหลายอย่างประกอบกันอย่างเป็นระบบ เช่น การเลือกพันธุ์พืช และระบบเกษตรกรรมที่เหมาะสม การส่งเสริมการจัดปรับสิ่งปลูกสร้างบ้านเรือนให้สอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ตลอดจนการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น การดำเนินนโยบายหรือมาตรการการประกันภัยพืชผลทางการเกษตร หรือการจัดการความเสี่ยงใดๆ เพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวอย่างเป็นระบบ และ รัฐควรสนับสนุนการวิจัยพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำโดยการสนับสนุนงบประมาณการวิจัยแก่กรมการข้าว เครือข่ายเกษตรกรและชุมชนที่ได้ริเริ่มการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกหลายพันคน  มีพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำต่างๆ ที่ได้รับการคัดเลือกและรับรองพันธุ์แล้ว เช่น ปิ่นแก้ว เล็บมือนาง นางฉลอง และตะเภาแก้ว เป็นต้น โดยทำควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้เกิดศูนย์ขยายพันธุ์ข้าวชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ท้องถิ่น และธนาคารพันธุ์พืชระดับครอบครัวและชุมชน เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบรรษัท นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ข้าวทนน้ำลึกที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ควรได้รับการสนับสนุนให้มีการดำเนินการต่อไป โดยต้องไม่นำไปสู่การโอนสิทธิในการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ข้าวแก่ธุรกิจบางรายเท่านั้น
 
5.      ส่งเสริมมาตรการกระจายความเสี่ยงในการผลิตโดยการประกันภัยพืชผล เนื่องจากในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรนั้น ประกอบไปด้วย เกษตรกรผู้ผลิต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต การแปรรูป การตลาด ผู้ส่งออก รวมทั้งสถาบันการเงินที่มีส่วนได้เสียกับเกษตรกร แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติกลับมีแต่เกษตรกรที่ต้องรับภาระโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว ผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตทางการเกษตรและอาหาร ควรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าประกันภัยพืชผลด้วย รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลในด้านการเฉลี่ยจ่ายเบี้ยประกันภัย อนึ่ง การคุ้มครองภัยควรครอบคลุมภัยน้ำท่วมด้วย และขยายชนิดพืชที่ทำประกันภัยให้มากกว่าเดิม
 
 
6.      การเสนอมาตรการก่อสร้างที่กักเก็บน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเขื่อนขนาดใหญ่ ต้องมีการทบทวนและวิเคราะห์ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างเข้มงวด รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสังคม เนื่องจากมีปัญหาในการจัดการน้ำ ดังที่เห็นได้จากก่อนน้ำท่วมนั้น เขื่อนหลายเขื่อนเก็บกักน้ำไว้ถึง 90% โดยไม่ทยอยปล่อยน้ำในช่วงที่ระดับน้ำในพื้นที่ใต้เขื่อนมีไม่มาก แต่มาเร่งปล่อยน้ำช่วงที่มีปริมาณฝนหนาแน่นในทุกพื้นที่จนท่วมพื้นที่ใต้เขื่อน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงในหลายพื้นที่ นอกจากนี้การบรรเทาปัญหาน้ำท่วมอาจทำได้โดยการรื้อและปรับปรุงสิ่งก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำหรือเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ รวมทั้งการขุดคลองผันน้ำ ตลอดจนแก้มลิง (ที่ถูกหลักวิชาการ) แต่ต้องทำภายหลังจากมีการศึกษาอย่างเพียงพอและผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้วด้วย
 
7.      การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและชุมชนท้องถิ่นในการจัดทำแผนรับมือภัยพิบัติระดับพื้นที่ โดย ภาครัฐควรส่งเสริมบทบาทของชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการน้ำ ทั้งเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมแบบบูรณาการ โดยควรให้ผู้นำของชุมชนมีส่วนร่วมพิจารณาการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีแนวโน้มจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนต่างๆ
 
 
8.      บทบาทของนักการเมืองในการใช้งบประมาณและการตัดสินใจทำโครงการพัฒนา ทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาติ ที่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยอาศัยข้อมูล สถานการณ์ที่เป็นจริง หลักวิชาการ ในการตัดสินใจโครงการต่างๆ ภายใต้ผลประโยชน์ต่อประชาชน สังคมและประเทศชาติอย่างยั่งยืน มิใช่หวังประโยชน์เฉพาะหน้าอื่นๆเท่านั้น
 
9.      สื่อมวลชนสามารถมีส่วนร่วมขับเคลื่อนสังคมในการแก้ไขและเยียวยาปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน โดยเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ จุดประเด็นความคิด ให้สังคมได้ทราบ และเปิดช่องทางให้ชุมชน ภาคประชาสังคม และนักวิชาการที่เป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐและเอกชน เข้ามามีบทบาทในการร่วมมือแก้ไขวิกฤตน้ำท่วม (ฝนแล้ง) อย่างเป็นระบบ
 
 
 
 
 
 

Leave a comment